[PharmWU Alumni] ภก.ฟาเดล กับบทบาทเภสัชกรในกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ.นราธิวาส

สำหรับวันนี้ ทาง PharmWU Alumni ขอนำเสนอศิษย์เก่าของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ในแวดวงของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกันครับ โดยโอกาสนี้เราได้รับเกียรติจาก เภสัชกร ฟาเดล สาและดิง ศิษย์เก่าสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รุ่นที่ 6 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส

Admin: สวัสดีครับ ขอให้แนะนำตัวหน่อยนะครับ

ภก.ฟาเดล: ผมฟาเดลครับ จบเภสัชฯ มวล. รหัส 55 (Rx6WU) เรียนจบมา 3 ปีแล้วครับ ตอนนี้ทำงานอยู่ที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส

Admin: ตอนนี้หลัก ๆ ทำหน้าที่เกี่ยวกับอะไรบ้างครับ

ภก.ฟาเดล: งานหลักที่ได้รับมอบหมายเป็น พรบ.สถานพยาบาล พรบ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พรบ.ยาเสพติด พรบ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาทิเช่น กัญชา ซึ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันะครับ แต่หลังๆ จะเข้มในทางกัญชามาก ๆ ด้วยครับ 555+

Admin: มีเหตุผลอะไร ที่เลือกมาปฏิบัติหน้าที่เภสัชกร ในงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มคองผู้บริโภคฯ ในหน่วยงานที่เป็นสำนักสาธารณสุขจังหวัดครับ

ภก.ฟาเดล: ก่อนหน้ามาทำงานนี้ ผมคิดอยู่เสมอว่า สสจ. นี้ ต้องทำงานเอกสารเยอะแน่ๆ ซึ่งตัวเองไม่ถนัดเลย แต่พอมาทำจริงแล้ว เอกสารแทบไม่ได้ทำเลย ทำงานเป็นคนให้คำปรึกษาเป็นส่วนมาก และงานอื่น ๆ อีกเยอะเลยครับ เช่น งาน อย.น้อย งานฮัจย์ ล่าสุดก็โควิด ทำงานบริหารเวชภัณฑ์ของจังหวัดซึ่งปวดหัวใช้ได้เชียว

 

Admin: เภสัชกรใน สสจ. แตกต่างจากเภสัชกรใน รพ. อย่างไรบ้างครับ

ภก.ฟาเดล:  ในการทำงาน สสจ. มันต่างจาก รพ. คือมันไม่มีงานที่ routine หรืองานตายตัว แต่ขจะเป็นงานใหม่ ๆ โดยงานใหม่ ๆ จะมีเสมอ ตามนโยบายของผู้บริหาร การทำงาน 3 ปีของผมจึงแทบจะไม่ซ้ำเลย แต่จริงๆ แล้ว งาน routine มันมีนะครับ แต่แค่ตรวจประจำปีแค่เดือนเดียว ที่เหลือก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นทุกวัน

Admin: อยากให้เล่าเกี่ยวกับช่วงแรก ๆ ที่มาทำงานที่ สสจ. ครับผม

ภก.ฟาเดล:  ในปีแรกทำ อย.น้อย ร่วมกับพี่เภสัชอีกคนครับ พี่เขามีโครงการ อย.น้อยเยี่ยมบ้าน ซึ่งเข้าทางเราเลย ได้ฉายแสงให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าเภสัชกรเยี่ยมบ้านทำอย่างไรบ้าง ภูมิใจนะครับ ที่ได้ใช้วิชาจากสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มวล. ซึ่งได้ลงชุมชนทุกปีระหว่างที่เรียนที่นั่นครับ และรู้สึกภูมิใจที่ได้แสดงให้น้อง ๆ เห็น และสอนให้น้องรู้จักเครื่องมือต่าง ๆ ที่สำคัญ และใช้ได้จริง ๆ ถึงเราจะจำได้ไม่หมดก็เถอะ 55+ และน้องก็ทำตามเราและทำได้ดีด้วย เข้าใจความรู้สึกอาจารย์เลย ><

Admin: ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ไหมครับ

ภก.ฟาเดล:  คิดว่าเหมือนกันครับ อย่างเช่น กิจกรรม อย.น้อย ก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง แต่ที่คิดว่าภาคภูมิใจที่ได้ดำเนินการ คือรับงานฮัจย์ด้วยครับ โดยไปดูแลคนที่จะไปทำฮัจย์ที่นครเมกกะ โอโห… อันนี้ ยิ่งแล้วใหญ่เลยครับ ทักษะการคุยกับชาวบ้านที่อาจารย์สอนมา ได้ใช้เต็มมาก ๆ ครับ โดย 1 วัน คุยกับกลุ่มเป้าหมายได้ประมาน 50-60 คน แนะนำการใช้ยา การเก็บยา หรือการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมให้กับคนที่สนามบิน 5 – 7 วัน สนุกมาก แต่ในปีนี้ต้องหยุดทุกอย่าง เพราะการมาของ covid-19 งานอื่นหยุด แต่มีงานใหม่มาอีก 55 แน่นอน

Admin: ในสถานการณ์ Covid-19 ในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้างครับ และบทบาทของเภสัชกรที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้างครับ

ภก.ฟาเดล:  เมื่อมีการเปิด EOC เภสัชในกลุ่มงาน คบส. ก็ต้องอยู่ในกล่อง Logistics และ Stockpiling ดูแลคลังรวมของจังหวัด ดูทุกอย่างครับ ตั้งแต่แมสก์, ชุด PPE, แอลกอฮอล์ เป็นต้นครับ รวมถึงการวางแผนการใช้ไม่ให้ขาด คำนวณ รวมถึงขอสนับสนุนให้มีการใช้ที่เพียงพอ และเมื่อสถาการณ์หนักขึ้น จนต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม เราก็ต้องจัดการหาเวชภัณฑ์อื่น ๆ ที่จำเป็นอีก ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆอีกเยอะ รวมถึงเป็นตัวกลางระหว่างการบริหารและการปฏิบัติงานซึ่งแอบปวดหัวนิดนึง แต่ด้วยทีมงานที่ดี ก็ทำให้เรายังคงทำงานแบบแฮปปี้ต่อไป ก็หวังว่าโควิดจะหมดเร็วๆ จะได้มีโอกาสไปเล่าประสชการณ์ให้น้องต่อไป ><

Admin: ขอบคุณมากครับ ทำให้เห็นบทบาทหน้าที่ของเภสัชกร ในอีกบทบาทหนึ่งได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ โอกาสหน้าจะมาขอสัมภาษณ์อีกนะครับ ขอบคุณครับผม

 

แล้วพบกับ PharmWU Alumni ได้ครั้งใหม่ ในโอกาสหน้าครับ