เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช ได้เปิดเผยเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการใช้ยาในร้านชำอย่างปลอดภัย ณ พื้นที่เขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านประดู่หอม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการจัดโดยสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านประดู่หอม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากแอพลิแคชั่น “ร้านชำ@Nakhon” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ร้านชำในชุมชนประดู่หอมได้รับความรู้เกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายได้ในร้านชำ รวมถึง กลุ่มแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และกลุ่มประชาชนผู้สนใจผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถแยกแยะเครื่องหมายที่เกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ ตลอดจนร้านชำในชุมชนประดู่หอมมีความเข้าใจและสามารถจัดเก็บ จัดวางยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 คือ การทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ และสอดคล้องกับตัวชี้วัด ของ THE Impact Ranking Education ข้อ 3.3.2 มหาวิทยาลัยมีการจัดโครงการด้านสุขภาพในชุมชนเพื่อพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยการให้ความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมในระดับครัวเรือนและแกนนำ อสม. และเกิดการบูรณาการด้านการเรียนการสอน และการบริการวิชาการในรูปแบบของ Social Engagement ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชน สังคม และพัฒนาการเรียนการสอนในรายวิชา PHA62-463 เภสัชกรรมครอบครัวและชุมชนปฏิบัติ 1 ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 สามารถฝึกปฏิบัติในพื้นที่ชุมชนสอดคล้องกับตัวชี้วัดข้อ 4.3.4 และข้อ 17.2.1
กิจกรรมนี้ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 และมีการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 การจัดกิจกรรมมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด 47 คน ผลการประเมินโครงการ พบว่า คะแนนหลังการจัดกิจกรรม คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 20 คะแนน จากทั้งหมด 20 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังจากการอบรมผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดมีความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้น และสามารถนำความรู้ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้ในการจัดวางยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างถูกต้อง และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสามารถประเมินและติดตามเยี่ยมร้านชำได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยในชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนสามารถเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ในร้านชำได้อย่างปลอดภัย
ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ความรู้ที่ทางกลุ่มเป้าหมายได้รับไป การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
ภาพประกอบข่าว