ในปี 2567 สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร บุญส่ง หวังสินทวีกุล ได้เข้าร่วมดำเนินการโครงการ “ทำโครงการวิจัยกับนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์” รุ่นที่ 15 โรงเรียนเบญจราชูทิศ นครศรีธรรมราช เป็นโครงการต่อเนื่องที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การสนับสนุนในลักษณะของการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช โดยได้ดำเนินการประสานหัวข้อการวิจัย และนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ประสานในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งโครงการจะมีความหลากหลาย ตามความสนใจของนักเรียน ซึ่งในจำนวนโครงการดังกล่าว มีสองโครงการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรจากป่าชายเลนในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ ผศ.ดร.ภก. บุญส่ง หวังสินทวีกุล ดำเนินการวิจัย ซึ่งโครงการวิจัยทั้งสองประกอบด้วยการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดใบโกงกางใบเล็กจากพื้นที่ป่าชายเลนที่แตกต่างกัน และการศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดใบลำแพน ซึ่งโครงการวิจัยทั้งสองมีแนวทางการดำเนินการดังนี้
- นักเรียนดำเนินการร่าง proposal และค้นคว้าข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง
- นำเสนอข้อมูล และ proposal ให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาฟัง
- ดำเนินการปรับ proposal และแนวทางในการดำเนินการวิจัย
- วางแผน และดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนที่กำหนด
- สรุปผลการวิจัย และอภิปรายผลการวิจัย
ซึ่งในแต่ละขั้นตอน นักเรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการคิด และวางแผนการทำวิจัย รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็น และวิพากษ์การวิจัย ทั้งนี้ได้เรียนรู้ และฝึกทักษะการทำวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การเตรียมตัวอย่างสมุนไพร การสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งนักเรียนได้ดำเนินการโครงการจนเสร็จสิ้น และได้ดำเนินการปิดโครงการไปแล้ว พร้อมทั้งนำเสนอผลงานวิชาการดังกล่าวในเวทีการนำเสนออื่น ๆ ตามความสนใจของนักเรียน โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย จากการดำเนินการข้างต้น โครงการได้แล้วเสร็จแล้วโดยได้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการดังนี้
- นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัย และวางแผนการวิจัย รวมทั้งฝึกคิดในการแก้ปัญหาในงานวิจัย โดยมีนักวิจัยให้คำแนะนำ
- นักเรียนได้ความรู้เกี่ยวกับศักยภาพของพืชในป่าชายเลนในการนำมาเป็นยาจากธรรมชาติ
- นักเรียนได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในงานวิจัย
- นักเรียนได้ฝึกการอภิปรายผลการทดลอง และเสนอแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์
- สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้บริการวิชาการให้กับสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา
ภาพประกอบข่าว