แนะนำบุคลากรใหม่ (สายวิชาการ) สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแนะนำบุคลากรใหม่ (สายวิชาการ) จำนวน 3 คน ซึ่งเริ่มปฏิบัติงาน ณ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 ดังนี้

อาจารย์ เภสัชกรหญิง พิราวรรณ ขุนกิจ ตำแหน่ง : อาจารย์ประจำแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ (สาขาวิชาการบริบาลเภสัชกรรม) โดยปฏิบัติงาน ณ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปีการศึกษา 2563 มีความสนใจงานวิจัยในด้าน Pharmacotherapy in infectious diseases และ Antimicrobial resistance (AMR) โดยวางแผนศึกษาเรียนต่อเฉพาะทางด้านเภสัชบำบัดในผู้ป่วยโรคติดเชื้อในอนาคต

 

อาจารย์ เภสัชกร ปัณณวัฒน์ มุททารัตน์  ตำแหน่ง อาจารย์สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม -เภสัชศาสตร์สังคมและบริหารเภสัชกิจ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตร์บัณฑิต (เภสัชกรรมอุตสาหการ) คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2564 ประวัติการทำงาน ฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมการตลาดในตำแหน่งเภสัชกร Market Access บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จํากัด ได้รับประสบการณ์จากการฝึกงานด้านประเมินความคุ้มค่า และประเมินความสามารถในการเบิกจ่ายของเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีสุขภาพของโรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วย การเขียนโครงร่างงานวิจัยเพื่อเสนอเทคโนโลยีสุขภาพเข้าสู่การประเมินพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทางด้านเครื่องมือแพทย์ การทำวิจัย ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ การพัฒนายาเม็ดชนิดแตกตัวเร็วโพวิโดนไอโอดีน (Development of Povidone Iodine Fast Dispersible Tablets) สำหรับงานวิจัยที่สนใจ ปัจจุบันสนใจงานวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) หัวข้อ “ชุดอุปกรณ์สำหรับจี้ทำลายเนื้องอกด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation)” และ “การรักษาก้อนเนื้องอกมะเร็งตับชนิดมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma) ด้วยวิธีการจี้ด้วยความร้อนโดยใช้เข็มที่ผลิตความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟ (microwave ablation)” โดยมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยซึ่งมากกว่าสาเหตุการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุซึ่งเป็นอันดับ 2 ถึง 1.9 เท่า แม้งานวิจัยทั้ง 2 หัวข้อยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกหัวข้อแต่ถ้างานวิจัยผ่านและได้เป็นสิทธิการรักษาของคนไทยก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 

อาจารย์ เภสัชกรหญิง สิริกัญญา แก้วประดิษฐ์ ตำแหน่ง อาจารย์สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ – เภสัชเคมี สำเร็จการศึกษา เภสัชศาสตรบัณฑิต จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทางด้านเภสัชกรรมอุตสาหการ เช่น การควบคุมคุณภาพทางเภสัชกรรม (QA และ QC) การผลิตยา การพัฒนายา ทั้งที่เป็น Biological products และเครื่องสำอาง โดยทำวิจัยเกี่ยวกับ  “Formulation of mucoadhesive nanoemulgel containing cannabis extract for  mouth ulcer treatment” และมีความสนใจทางด้าน Drug discovery and development, Quality assurance and quality control และ Method development and validation