ผลงานวิจัยของอาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มวล. ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Phytochemical Analysis (Q1)

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.กรวิทย์ อยู่สกุล และอาจารย์ เภสัชกรหญิง ศุภลักษณ์ ไพศาล ในโอกาสที่ผลงานการวิจัยเรื่อง Immunochromatographic assay for the detection of kwakhurin and its application for the identification of Pueraria candollei var. mirifica (Airy Shaw & Suvat.) Niyomdham ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ “Phytochemical Analysis” ซึ่งเป็นวารสารที่จัดอยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS ประเภท Q1

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.กรวิทย์ อยู่สกุล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้พืชสมุนไพรทางยา การจำแนกชนิดเป็นการสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ซึ่งหากมีการนำไปใช้ผิดชนิด ผิดข้อบ่งใช้ อาจก่อให้เกิดโทษได้ การวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคทางภูมิคุ้มกันวิทยา หรือImmunochromatographic assay หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Strip test ที่แลปเราได้พัฒนาขึ้น สามารถใช้วิเคราะห์เพื่อจำแนกความแตกต่างของกวาวเครือขาว (Pueraria mirifica) กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันทั้งชื่อและลักษณะที่ปรากฎ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในรูปแบบผงสมุนไพร การจำแนกจะทำได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกกวาวเครือขาวจากพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตระกูลเดียวกันได้อีกด้วย โดยหลักการที่สำคัญของการวิเคราะห์ด้วยวิธีการนี้คือ ใช้ความจำเพาะระหว่างแอนติบอดีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้จำเพาะต่อสารกวาวเครือริน (kwakhurin) ซึ่งพบเฉพาะในกวาวเครือขาวเท่านั้น ดังนั้นหากพืชสมุนไพรใดให้ผลการวิเคราะห์ที่เป็นบวก นั่นแสดงว่าสมุนไพรดังกล่าวเป็นกวาวเครือขาวหรือมีกวาวเครือขาวผสมอยู่ จึงสามารถที่จะนำไปวิจัยและพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง

เนื่องจากกวาวเครือขาวมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโทรเจนซึ่งสามารถใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในผู้ที่ขาดเอสโทรเจน ในขณะเดียวกันกวาวเครือแดงมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอนโดรเจน จะเห็นได้ว่าแม้ว่าชื่อและลักษณะภายนอกจะมีความคล้ายคลึง แต่สารสำคัญในพืชสมุนไพรทั้งสองมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการจำแนกที่แม่นยำมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการพัฒนายาสมุนไพร และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งนี้จะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการยกระดับและเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในศักยภาพของสมุนไพรไทยได้อีกด้วย เพื่อให้สมุนไพรไทยได้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การวิจัยทั้งด้านการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงเซลล์พืช การสกัด การวิเคราะห์ และการพัฒนาตำรับ ล้วนมีความสำคัญ หากทุกกระบวนการสามารถที่จะควบคุมคุณภาพได้ สุดท้ายแล้วคุณภาพจะเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์อย่างแน่นอน

10.1002@pca.2998