ปริญญาตรี

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

ภาษาอังกฤษ: Doctor of Pharmacy


ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: เภสัชศาสตรบัณฑิต

ภาษาอังกฤษ: Doctor of Pharmacy


ปรัชญา / วัตถุประสงค์

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กำหนดปรัชญาหลักสูตร ให้เป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของสภาเภสัชกรรม ตระหนักถึงเจตคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered approach) ส่งเสริมและพัฒนาทักษะเภสัชกรรมชุมชน เพื่อให้บัณฑิตมีทักษะด้านชุมชนเพื่อการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ โดยตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้คน ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้และการวิจัยเพื่อการแก้ไขโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพ โดยบูรณาการองค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับการค้นคว้าข้อมูลเทคโนโลยีด้านสุขภาพสมัยใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยด้านต่าง ๆ ของชุมชนอย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดการใฝ่รู้เพื่อพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต มีความสอดคล้องกับหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และฝึกการทำงานร่วมกัน เพื่อการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ (Multiprofessional healthcare team) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้รับบริการด้านสุขภาพ และเป็นที่พึ่งแก่ชุมชนได้ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงมีปรัชญาหลักสูตรที่ว่า “เด่นทักษะเภสัชกรรมชุมชน เข้มข้นวิชาการ เก่งงานเทคโนโลยี มีทักษะการสื่อสาร ประสานสหสาขาวิชาชีพ ใฝ่รู้ตลอดชีวิต ยึดจิตจรรยาบรรณ มุ่งมั่นทำงานด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”


คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตร

1. มีจริยธรรมและทัศนคติที่ดีต่อบทบาทและคุณค่าของการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
2. มีความรู้ ความเข้าใจด้านเภสัชกรรม ระบบงาน ตลอดจนเข้าใจกระบวนการพัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการครอบคลุมตั้งแต่การวางแผน การลงมือปฏิบัติ การตรวจสอบ/ติดตาม และการปรับกระบวนการ ตามวงล้อคุณภาพ บนหลักฐานทางวิชาการที่มาตรฐาน
3. มีทักษะและประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติวิชาชีพอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐาน แนวทาง หรือวิธีปฏิบัติที่ดีในแต่ละสาขา ตลอดจนการทำงานเป็นทีม/สหสาขาวิชาชีพ
4. มีความคิดเชิงระบบ สามารถวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุของความเสี่ยง อุบัติการณ์ ตลอดจนปัญหา และสังเคราะห์ข้อเสนอและแนวทางในการจัดการได้อย่างเหมาะสม
5. มีความรู้ ความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของระบบยา กับระบบสุขภาพ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
6. คำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย/ผู้รับบริการเป็นสำคัญ รวมทั้งหลักการสำคัญของระบบสุขภาพ เช่น การสร้างเสริมสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค หลักของความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ การชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นต้น
7. สามารถประยุกต์ความรู้ด้านเภสัชกรรมและบูรณาการศาสตร์สาขาอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน


แนวทางประกอบอาชีพ

1. เภสัชกรประจำหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดของรัฐ เช่น โรงพยาบาล ร้านยาและหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา ชีววัตถุและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในสังกัดกระทรวงต่าง ๆ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น) หน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานด้านการแพทย์แผนไทย
2. เภสัชกรประจำหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดของเอกชน เช่น โรงพยาบาล ร้านยา บริษัทยาในประเทศ บริษัทยาต่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตและการขึ้นทะเบียนยา ชีววัตถุ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอาง
3. นักวิจัยในหน่วยงานของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิจัย
4. นักวิจัยในหน่วยงานของเอกชน เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิจัยทางคลินิก ศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการชีวประสิทธิผลและชีวสมมูล บริษัทยาในประเทศ บริษัทยาต่างประเทศ
5. อาจารย์ในสถาบันการศึกษาในสังกัดของรัฐและเอกชน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
6. ตำแหน่งอื่น ๆ ที่รับผิดชอบในด้านการควบคุมคุณภาพยา การประกันคุณภาพการผลิตยา การประกันคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ดำเนินงานตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ การประกันคุณภาพการวิจัยทางคลินิก การพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับยาภายในประเทศและเพื่อการส่งออก การพัฒนาธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศและเพื่อการส่งออก การวิเคราะห์ต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจยาในประเทศและต่างประเทศ การบริหารจัดการด้านเศรษฐศาสตร์และความคุ้มทุนของธุรกิจยาในประเทศและต่างประเทศ เภสัชกรด้านการตลาด


แนวทางการศึกษาต่อ

1. สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ
สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้จากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
2. สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม
สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการศึกษาวุฒิบัตร/อนุมัติบัตร ประกาศนียบัตรเพิ่มเติมในหัวข้อเฉพาะเรื่อง ได้จากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ


ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 26,500 บาท
ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 477,000 บาท


โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยวิชา รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 78 หน่วยวิชา
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) 10 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาไทย) 4 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 3 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชากีฬาและนันทนาการ 0.5 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 1 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 1.5 หน่วยวิชา
2. หมวดวิชาเฉพาะ (Specialized Education) 66 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาพื้นฐาน 15.5 หน่วยวิชา
1. รายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 8 หน่วยวิชา
2. รายวิชาพื้นฐานวิชาชีพ 7.5 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาชีพ 29 หน่วยวิชา
1. รายวิชาด้านเภสัชศาสตร์
11 หน่วยวิชา
2. รายวิชาด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม
11.5 หน่วยวิชา
3. รายวิชาด้านเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร
5.5 หน่วยวิชา
4. รายวิชาโครงการพิเศษ
1 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาชีพเลือก 9 หน่วยวิชา
กลุ่มวิชาฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ 12.5 หน่วยวิชา
3. หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 2 หน่วยวิชา