โครงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการจัดการระบบยาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติ อำเภอท่าศาลา

วันที่ 19 มีนาคม 2561 ทางสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการจัดโครงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและการจัดการระบบยาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติ อำเภอท่าศาลา

ณ สถานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา

เนื่องจากพื้นที่เขตชุมชนบริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา) เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางน้ำ จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นการสร้างเสริมความเข้าใจและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและมุ่งเน้นถึงปัญหาของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีการใช้ยารักษาในโรคประจำตัวหรือยาสามัญประจำบ้านระหว่างประสบภัยพิบัติ ได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้ยารักษาของตนเองระหว่างที่ประสบภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วม ดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถรับประทานยาได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเกิดภัยพิบัติ

2. เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับภัยพิบัติ เช่น ไข้เลือดออก ฉี่หนู อหิวาตกโรค แผลติดเชื้อ เป็นต้น

3. ผู้ประสบภัยพิบัติสามารถสังเกตอาการตนเองเบื้องต้นของโรคระบาดรุนแรง เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

4. ผู้ประสบสามารถใช้ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่เกิดจากภัยพิบัติได้อย่างถูกต้อง

5. จัดระบบการช่วยเหลือสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ที่ได้รับบริจาค เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับยาอย่างทั่วถึง

โดยการดำเนิโครงการเป็นไปในรูปแบบการให้ความรู้ความเข้าใจและมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้ทำอย่างสนุกสนานพร้อมทั้งได้ความรู้ ดังนี้

การให้ความรู้เรื่องโรคและความสำคัญของการรับประทานยาให้ถูกต้อง โดย อ.ภก.ธีรภัทร์  มาแจ่ม การให้ความรู้เรื่องโรคที่มาพร้อมภัยพิบัติ วิธีการสังเกตอาการนำของโรครุนแรง การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค โดย อ.ภก.ณัฐพนธ์ ทรงนาคา และให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้อต้นโดยการสาธิตโดยพยาบาลวิชาชีพกมลทิพย์  เกียรติรุ่งนพคุณ โดยรูปแบบการให้ความรู้โดยใช้สื่อรูปภาพ สื่อคลิปวีดิโอ การสาธิตและฝึกปฎิบัติ บอร์ดให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันในกลุ่มผู้ป่วยและอสม.

มีการให้ความรู้เรื่องโรคและความสำคัญของการรับประทานยาให้ถูกต้อง โดยใช้สื่อคลิปวีดิโอ และบอร์ดให้ความรู้ เช่น การรับประทานยาก่อน/หลังอาหารที่ถูกต้องวิธีการปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา วิธีการอ่านฉลากยา และความสำคัญของการรับประทานยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และการเก็บรักษายาเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยอาจารย์ธีรภัทร์  มาแจ่มเป็นผู้ดำเนินงานในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันในกลุ่มผู้ป่วยและอสม. นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมการการสาธิตการใช้ยาสามัญประจำบ้านเพื่อนให้ผู้เข้าร่วมสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องและได้รับกล่องยาสามัญประจำบ้านจากกิจกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยกิจกรรมดังกล่าวผู้เข้าร่วมเป็นผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรสาธารณสุขจากโรงพยาบาลท่าศาลา โครงการทั้งหมดจำนวน 109 คน  โดยโครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับและความพึงพอใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี