บทความทางวิชาการของ อ.ภญ.ณิชกานต์ อภิรมย์รักษ์ ได้รับการเผยแพร่

บทความทางวิชาการ เรื่อง Inhaled medication in COPD โดย อาจารย์ เภสัชกรหญิง ณิชกานต์ อภิรมย์รักษ์ อาจารย์สาขาบริบาลเภสัชกรรม สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับรองศาสตราจารย์ สุณี เลิศสินอุดม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการเผยแพร่ สำหรับการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์สำหรับเภสัชกร ภายใต้สถาบันหลักคือ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) โดยมีรหัสกิจกรรมคือ 2002-1-000-003-03-2563 (2.5 หน่วยกิต)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง COPD (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เป็นปัญหาสําคัญทางสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ (not fully reversible airway obstruction) ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญในการรักษา คือ การลดอาการในปัจจุบัน และป้องกันผลเสียของการรักษาไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ การลดความเสี่ยงในการเกิดการกำเริบ (exacerbation), ชะลอการดำเนินไปของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือ ยาสูดขยายหลอดลม (inhaled bronchodilators) ได้แก่ ยากลุ่ม beta2-agonist และ anticholinergic และยา anti-inflammatory ได้แก่ inhaled-corticosteroids (ICS) การใช้ยาในรูปแบบสูดจะเป็นการนำส่งยาไปสู่ปอดโดยตรง ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีและเกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อย โดยเครื่องมือที่ใช้นำส่งยาสูดมีหลายรูปแบบและมีวิธีการใช้แตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยการใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้องของผู้ป่วย เพื่อให้ยาในรูปแบบสูดมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี