กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์                             และ Yokohama University of Pharmacy ประเทศญี่ปุ่น

 

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เวลา 13.00 – 15.00 น. สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ Yokohama University of Pharmacy ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลสิทธิ์ หิรัญสาย ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนและการสอน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีการพัฒนาการเรียนการสอนโดยนำระบบ UKPSF หรือ UK Professional Standard framework โดยได้บรรยายในภาพรวม และรายละเอียดและวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมการสร้าง Smart students และ Smart Teachers ภายใต้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา AUNQA และมุ่งสู่เป้าหมายการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก

จากนั้น Dr. Takanashi Keita จาก Department of Pharmacy Education Center, Yokohama University of Pharmacy (YUP), Japan ได้แนะนำให้รู้จักกับ Yokohama University of Pharmacy (YUP) ผ่านวิดีทัศน์ และได้บรรยายเกี่ยวกับระบบเภสัชศาสตร์ศึกษาใน YUP ซึ่งแบ่งออกเป็นสามสาขาวิชา ได้แก่ Health Pharmacy, Kampo Pharmacy และ Clinical Pharmacy ซึ่ง YUP เป็นแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นในการศึกษา Kampo medicines สำหรับการรักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน โดยระบบเภสัชศาสตร์ศึกษาของ YUP จะเป็นหลักสูตร 6 ปี และเป็นแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นที่เปลี่ยนระบบเภสัชศาสตร์ศึกษาเป็น 6 ปี

การศึกษาจะประกอบด้วย Basic Pharmacy Education, Professional Education และ Medical ethics ในการศึกษาในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งในช่วงปีที่ 5 ของการศึกษา จะมีการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ หรือ Practical training ในร้านยาและโรงพยาบาล เป็นระยะ 5 เดือน โดยนักศึกษาจะต้องผ่าน Computer-based testing (CBT) และ OSCE หรือ Objective Structured Clinical Examinations ก่อน และในช่วงปีที่ 6 จะเป็นช่วงของการทำวิจัย (Graduation research and Graduation thesis) และหลังจากจบการศึกษาจะมีการสอบ National Pharmacy License Examination ซึ่งเป็น paper-based examination ในระดับชาติ เพื่อรับใบประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรม และวิทยากรได้กล่าวถึงการศึกษาในระดับ Graduate school ซึ่งปี 2019 เป็นปีแรกของการเปิดการศึกษาในระดับนี้ โดยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อม และหลักสูตรที่เน้นการวิจัยทางด้านเภสัชศาสตร์

ในตอนท้าย ทางคณาจารย์และบุคลากรที่เข้าฟัง ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การจัดการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์ การปลูกฝังจริยธรรม ความแตกต่างของการจัดสอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

กิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ของทั้งสองสถาบันโดยมีบุคลากรสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว และสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนจะได้มีการนำมาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของทั้งสองสถาบันต่อไป